เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะที่มีมาแต่กำเนิดให้เข้มแข็ง เพราะเป็นด้านแรกและด่านสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค ความเชื่อของแพทย์จีนที่ว่า “หมอที่เก่งที่สุดคือตัวเรา” การจะทำให้กลไกร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือการมีสุขภาพที่ดีต้องสร้างด้วยตัวเองเท่านั้น โดยการเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องและเป็นจังหวะกับธรรมชาติเท่านั้น
สุขภาพที่ดีบ่งบอกถึงภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จิตใจร่าเริง มีความสุข อายุยืนยาว
1.การปรับสมดุลด้วยอาหารและยา
“ ยามปกติปรับสมดุลด้วยอาหาร ยามเจ็บป่วยปรับสมดุลด้วยยา”
ดังนั้นในการป้องกันโรคจึงเน้นที่อาหาร หรือสมุนไพรที่เป็นอาหารมากกว่าใช้ยา เพราะยาเป็นการปรับสภาพไปด้านใดด้านหนึ่งที่รุนแรง ถ้าร่างกายไม่เสียสมดุลมากจึงเน้นการใช้อาหารสมุนไพรเป็นหลัก
คุณลักษณะสมุนไพร มีฤทธิ์ ร้อน-อุ่น หรือเย็น มีรสชาติบอกสรรพคุณ นำยาเข้าสู่อวัยวะใด มีกลไกพลังกำหนดทิศทางของยา ขึ้นบน ลงล่าง เข้าใน กระจายออกภายนอก การใช้สมุนไพรจึงต้องคำนึงให้สอดคล้องกับลักษณะโรคหรือความเสียสมดุล
แพทย์จีนไม่ได้ใช้ยาด้วยการเริ่มต้นจากการดูสารออกฤทธิ์
การแพทย์แผนจีนใช้หลักคิดทฤษฎีแพทย์จีนในการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรค ส่วนมากเป็นเชิงตำรับ จุดมุ่งหมายเพื่อปรับสมดุลร่างกายโดยรวม ปัจจุบันสมุนไพรต่างๆได้ถูกนำมาวิเคราะห์แยกแยะสารออกฤทธิ์สำคัญ ทำให้รู้ถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรจนเกิดความโน้มเอียงไปที่การเน้นสรรพคุณของสารออกฤทธิ์ไปรักษาอาการของโรคเป็นหลัก กลายเป็นการใช้สมุนไพรรักษาโรคมากกว่ารักษาคน มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสมุนไพร เกิดปัญหาและผลข้างเคียงจากการใช้สมุนไพร ตัวอย่างเช่น
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร (穿心莲)
มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ
– สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)
– สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)
– 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
สรรพคุณ : แก้ไข้ทั่วๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ระงับอาการอักเสบ พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
เมื่อมีการบริโภคอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเข้าใจว่าสามารถป้องกันโควิด 19 ได้ ทำให้มีข่าวคราวออกมาว่าบางคน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ขาเย็นเป็นตะคริว
ในมุมมองแพทย์แผนจีน คือ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณสามารถขับพิษ ขับร้อน หรือฆ่าเชื้อโรค ฆ่าไวรัส ยาฤทธิ์เย็นมาก จัดเป็นยาไม่ใช่อาหารสมุนไพร ไม่ใช่ยาบำรุง เป็นยาขับสิ่งก่อโรค ไม่เหมาะกับภาวะปกติหรือคนที่ร่างกายอ่อนแอ ขี้หนาว ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลิ้นบวมน้ำ ลิ้นมีรอยฟันหยัก ง่วงนอนเก่ง ขี้หนาว ท้องเสียบ่อย
กระชายขาว
เป็นอาหารและเป็นสมุนไพร รสเผ็ดฤทธิ์ร้อนและขม มีสรรพคุณเชิงกระตุ้น เสริมบำรุง ช่วยแก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ สารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว ได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้ง 2 ตัวนี้สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0% นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย
ข้อควรระวัง : คนที่ร่างกายมีภาวะร้อนชื้น ขี้ร้อน ท้องผูก ความดันโลหิตสูง หงุดหงิดง่าย ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง หนาและเหนียว การรับประทานกระชายขาวมากเกินไปจะทำให้เกิดความร้อนความชื้นมากขึ้น จะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันตก
ดังนั้นในการรับประทานสมุนไพรหรืออาหารจึงต้องรู้ถึงคุณสมบัติร้อนหรือเย็น อย่ามองเพียงแต่สารสำคัญและการออกฤทธิ์ของสมุนไพร แล้วนำไปใช้โดยไม่ได้คำนึงว่าความเหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือไม่
ในการใช้สมุนไพร ป้องกันหรือรักษาโรค ของแพทย์แผนจีนจะใช้การจัดยาป็นตำรับ ในประเทศจีนมีการแนะนำตำรับสมุนไพรจีนหลายสูตร ขึ้นกับว่าเป็นตำรับป้องกัน ตำรับรักษาในแต่ละระยะของโรคโควิด-19 มีการเผยแพร่ตำรับต่างๆออกมามากมาย ต้องเข้าใจว่า
1.ทุกตำรับที่ใช้ในทางการแพทย์แผนจีน ต้องมีหลักการและเหตุผลที่นำมาใช้ให้เหมาะสมกับอาการและอาการแสดงรวมถึงสภาพร่างกายผู้ป่วย
2.ต้องแยกให้ออกว่าเป็นตำรับป้องกันหรือรักษา (ระยะแรกหรือปานกลางหรือรุนแรง)
3. แต่ละตำรับมีพื้นฐานมาจากความแตกต่างของสภาพคน ภูมิประเทศ ภูมิอาการ ต้องเลือกใช้ตำรับและปรับลดตัวยาสภาพเป็นจริง
4.การใช้สมุนไพรจีนเพื่อปรับสมดุลควรได้รับการแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์จีนหรือผู้รู้
เทคนิคการกินอาหารสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
- มื้อเช้ากินอย่างราชา ย่อยง่าย อุดมด้วยคณค่าทางอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก อาหารปิ้งย่าง
- มื้อกลางวัน รับประทานให้อิ่มเหมือนสามัญชนแต่ต้องมีคุณค่าด้วย
- มื้อเย็น กินก่อนพระอาทิตย์ตกดิน กินอย่างยาจก กินปริมาณน้อย
- ทานอาหารต้องเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อช่วยให้การย่อยดูดซึมอาหารได้ดีขึ้นและเป็นการช่วยลดภาระการทำงานของระบบย่อยอีกทางหนึ่ง
- “กินก่อนหิว, ดื่มก่อนกระหาย ป้องกันการกินมาก ดื่มมาก (先飢而食,先渴而飲)
- ให้กินอิ่มเพียง 70% มีความรู้สึก “ในอิ่มมีหิว” (飽中飢) “ในหิวมีอิ่ม” (.飢中飽) และ อิ่มแต่ไม่แน่น, หิวแต่ไม่กลวง
เหตุผลสำคัญคือ “ความอยากอาหารสะท้อน พลังกระเพาะอาหาร” การปล่อยให้มีความหิวเล็กน้อยจะช่วยให้กลไลการทำงานของกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่จับกินเชื้อโรคยังทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์แผนจีนกล่าวว่า”การอิ่มเกินทำลายกระเพาะอาหารม้าม” ความหมายแคบ หมายถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพของระบบย่อยและดูดซึมอาหารซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน ยังหมายถึงระบบภูมิค้มกันที่ป็นต้นทุนแต่กำเนิดคืออวัยวะไต(แผนจีน)
2.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออกกำลังกาย
จุดมุ่งหมายการออกกำลังกาย บางครั้งให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนัก คือออกให้นานพอเกิน ครึ่งชั่วโมง ด้วยการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้นำเอาไขมันส่วนเกินมาใช้ หรือเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ หรือเพื่อให้หัวใจสูบฉีดมากขึ้น ซึงต้องทำให้หนักพอ จนหัวใจเต้นเร็วขึ้นจนถึงอัตราที่เป้าหมาย
การออกกำลังกายแบบแพทย์แผนจีน มุ่งเน้นเพื่อสุขภาพ เพื่อให้บรรลุ การไหลเวียนที่คล่องตัว จิตอารมณ์สดชื่น ลดความเครียด ร่างกายรับออกซิเจนมากขึ้น ขับของเสียได้ดีขึ้น ใช้หลักการ 3 ประสาน คือ ร่างกาย-จิตใจ(สมาธิ)-การหายใจ
- ร่างกายเคลื่อนไหว เน้น ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมากกว่าการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้พลังลมปราณไหลเวียนคล่องทั่วร่างกาย หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ติดขัด
- จิตสงบ สมองจะหลั่งสารแห่งความสุข เอนโดฟิน เอนเคฟาริน ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
- หายใจเข้าออก ช้า ลึกยาว ทำให้มีสมาธิจดจ่อ ขยายปอด กระตุ้นการทำงานหัวใจขยายปอด เสริมพลังปอด รับออกซิเจนขับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความอ่อนล้าได้เร็วขึ้น
ระบบเส้นลมปราณ – การเชื่อมโยงร่างกายทุกส่วนเข้าด้วยกัน อวัยวะภายในกับกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตัวอย่างเช่น
- จุดซูในบนแผ่นหลัง(背俞穴) เป็นจุดสะท้อนอวัยวะภายใน การติดขัดของของเส้นลมปราณที่จุดเหล่านี้จะมีผลต่อการเกิดโรคของอวัยวะภายในได้ ในทางกลับกัน การที่จุดเหล่านี้ไหลเวียนดีไม่ติดขัดจะทำให้อวัยวะภายในทำงานได้ดี
- จุดฝังเข็มเส้นลมปราณบริเวณหน้าท้อง มีอวัยวะสำคัญ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก มดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลืองในไขมันบริเวณช่องท้อง การรักษาการไหลเวียนบริเวณท้องและท้องน้อย จึงมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- จุดฝังเข็มเส้นลมปราณบริเวณหน้าท้อง มีกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองช่องท้อง
3.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอ
น้ำหนักตัวของคนเราประกอบไปด้วยน้ำถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำผ่านการปัสสาวะ เหงื่อ การหายใจ การออกกำลังกาย หรืออื่น ๆ การดื่มน้ำเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมอาจเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะหากดื่มน้ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยทั่วไปว่าการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว นั้นเพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย แต่แท้จริงแล้วปริมาณที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ของผู้บริโภค
ช่วงเวลาสำคัญของการดื่มน้ำ
- ตื่นนอน ดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้ว 240-480 ซีซี (เวลา 5.00 -7.00 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่) ช่วยให้ร่างกายขจัดสารพิษต่างๆ และช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน ช่วยการขับถ่าย ลดความหนืดของเลือดเบื่องจากการสูญเสียน้ำจากทางเดินหายใจ การใช้พลังงานขั้นพื้นฐาน รวมถึงสูญเสียน้ำมาเป็นน้ำกระเพาะปัสสาวะ โดยไม่ได้รับประทานน้ำมาเพิ่มเติมตลอดทั้งคืน ทำให้ปรมาณน้ำในหลอดเลือดน้อยลง เลือดมีความเข้มข้น โอกาสเกิดการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเกิดอาการวูบ เวียนศีรษะหกล้มหรือเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันได้
- เที่ยง ดื่มน้ำให้พอ ลดความหนืดเลือด (11-13 น. พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณ หัวใจ) ช่วงเวลานี้พลังร่างกายตามธรรมชาติมีพลังสูงสุด ภายหลังตื่นนอนภายหลังตรากตรำทำงานตลอดช่วงเช้า จึงต้องให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำ
- ช่วงเย็น ดื่มน้ำช่วยการทำงานของไตในการขับปัสสาวะ (17-19 น.พลังลมปราณ ไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณ ไต)
- ก่อนมื้ออาหาร การดื่มน้ำ 1 แก้ว 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งดื่มน้ำอีก 1 แก้วหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร แต่น้ำย่อยอาจเจือจางได้หากดื่มน้ำแล้วเว้นช่วงเวลาไว้นานเกินไป
- ก่อนนอน การดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนนอนช่วยแทนที่ของเหลวที่จะสูญเสียในตอนกลางคืนได้ คนที่ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืนอาจลดปริมาณน้ำลง เน้นดื่มในช่วงกลางวันให้มาก
- การดื่มน้ำเย็นประจำทำลายไตหยาง –รากฐานชีวิต (常喝冷水,伤肾阳-生命之根) เนื่องจากน้ำที่ดื่มจะผ่านทางเดินอาหารตั้งแต่ส่วนบนลงสู่ลำไส้ใหญ่ตามแนวกลงลำตัวผ่านหน้าอกช่องท้อง ท้องน้อย น้ำเย็นมีผลทำให้ เส้นเลือดหดตัว การไหลเวียนเลือดที่ไปยังอวัยวะภายในน้อยลง พลังลมปราณเกิดการติขัด การทำงานลดลง ก่อให้เกิดของเสียเกิดขึ้นภายในร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็น ในขณะที่น้ำอุ่นช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน ช่วยการย่อยอาหารดีขึ้นรวมถึงการทำงานต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้องด้วย
4.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการนอนหลับ
คนที่อดนอน หรือนอนดึกเป็นประจำ หรือ การหลับที่ไม่มีคุณภาพ คือ หลับยาก นอนไม่หลับทั้งคืน หลับๆตื่นๆ หลับแล้วตื่นตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ นอนหลับแล้วตื่นเร็ว ตื่นแล้วยังง่วงนอน นอนกรน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ
มนุษย์เราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ การนอนหลับนั้นเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหัวใจและหลอดเลือดจะได้พักผ่อนยังเป็นช่วงเวลาที่มีการซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ฟื้นฟูร่างกาย ทำลายพิษที่มีอยู่ในร่างกาย การปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับทราบมาและจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ จึงเป็นสวนหนึ่งของการเรียนรู้ ทําให้สมองเกิดการจดจําและมีพัฒนาการ ในวัยเด็กเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโต
แพทย์จีนกล่าวว่า “ถ้าไม่นอนหลับ พลังหยางจะไม่เกิด พลังยินจะไม่สะสมทำให้เสียสมดุลยินหยาง ตามมาด้วยโรคร้อยแปด”
- ควรเข้านอนก่อน 23.00 น.เพราะว่า ในช่วง 22.00-02.00 น. Melatonin Growth hormone หลั่ง ฮอร์โมน Melatonin ช่วยทำให้ง่วงนอน นอนหลับและกระตุ้นการสร้าง Growth hormone ซึ่งช่วยในการพัฒนาการและการเจริญเติโต เพิ่มความสูง และทำให้หลับสนิทช่วยให้มีการซ่อมแซมร่างกาย
- 23.00-1.00-พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณถุงน้ำดี ร่างกายเริ่มซ่อมแซมขจัดเซลล์เก่า ของเสีย และสร้างเซลล์ใหม่
- 1.00-3.00 น. – พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณตับ เข้าสู่ภาวะพัก ระยะการหลับลึก การขจัดของเสียออกระบบต่างๆ เวลา 02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายสงบที่สุด กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เข้าสู่สภาวะพัก ฟื้นฟูความอ่อนล้า
- ”งีบหลับสั้นๆช่วงกลางวัน ถนอมหัวใจ เติมพลัง” ช่วงเวลา 11.00-13.00 น.พลังลมปราณไหลเวียนผ่านเส้นลมปราณหัวใจสูงสุด ให้หลับงีบสั้นๆ (15-30 นาที) งีบกลางวัน หรือปล่อยวางทางจิตอารมณ์ด้วยสมาธิ จะป้องกันโรคหัวใจและทำให้สดชื่นช่วงกลางวีน
5.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการปรับอารมณ์ทั้ง 7 และจิตใจ
ดูแลสุขภาพจิตใจ(养精神)ต้องควบคุมตัณหาความอยาก“节欲” จิตสงบ ความต้องการทางวัตถุยิ่งมาก จิตใจยิ่งไม่สงบ ภูมิคุ้มกันยิ่งต่ำ ทำการใดไม่มีตัณหาลดความละโมบ ไม่รับรู้(ปล่อยวาง) ไม่หวังสิ่งตอบแทน (无欲、无知、无为)
ต้องใช้สติควบคุมอารมณ์ ไม่ตอบสนองตามสัญชาตญาน อย่าปล่อยให้ตกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งยาวนาน
อารมณ์ทั้ง 7 คือ อารมณ์โกรธ ดีใจ วิตกกังวล ครุ่นคิดเศร้าโศก ตกใจ กลัว อย่างรุนแรงหรือยาวนานล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานองอวัยวะภายในที่แน่นอน
- อารมณ์โกรธ ทำลายตับ
- อารมณ์ดีใจ ทำลายหัวใจ
- อารมณ์วิตกกังวล ครุ่นคิด ทำลายม้าม
- อารมณ์เศร้าโศก ทำลายปอด
- อารมณ์ตกใจ อารมณ์กลัว ทำลายไต
อารมณ์ต่างๆเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก มีการหลั่งสารชีวเคมีที่แตกต่างกันในแต่ละอารมณ์ สารชีวเคมีบางชนิดมีฤทธิ์กระต้น บางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายแตกต่างกัน ถ้าหลั่งมามากหรือยาวนานย่อมมีผลต่อภาวะสมดุลของระบบการทำงานร่างกาย ในทางแพทยืแผนจีนอารมณ์มีผลต่อกลไกพลังของอวัยวะภายใน รบกวนทิศทางการทำหน้าที่ของอวัยวะภายใน ตามมาซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
จิตใจที่ละโมบ จิตที่ผิดหวังเมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่ปล่อยว่าง ไม่ยอมรับความจริง พบวิกฤติก็มองแต่เป็นว่าคือความวิบัติ ไม่สามารถมองวิกฤติเป็นโอกาส จมอยุ่ในความทุกข์ นอนไม่หลับ กังวล ซึมเศร้า กลัว ทำให้สุขภาพกายและใจทรุดลงอย่างรวดเร็ว
6.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฝึกหายใจลึก
ฝึกหัดการหายใจด้วยท้อง เพื่อให้ออกซิเจนเข้าปอดได้เต็มที่และขับของเสียคาร์บอนไดออกไซด์ออกให้มากที่สุดเช่นกัน หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ หายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก อย่างช้าๆ
ข้อดีการหายใจด้วยท้อง
- เป็นการบริหารปอดและอวัยวะภายใน
- รับออกซิเจนมากขึ้น ขับของเสียมากขึ้น
- กล้ามผ่อนคลาย ลดความอ่อนล้า หลับดีขึ้น
- กระตุ้นการย่อยดูดซึม การขับถ่ายดีขึ้น
- ลดความเครียด ผ่อนคลาย ใจจดจ่อที่การหายใจ เกิดสมาธิ
7.การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่พอเหมาะ
อวัยวะไตเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมน ความเสื่อมชรา และไขกระดูกซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- แพทย์จีนกล่าวว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ แต่มากเกินก็ไม่ได้”
“อาหาร และเรื่องเพศ เป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้” - แพทย์จีนชื่อ เก๋อหง สมัยจิ้น ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อน กล่าวไว้ว่า “คนเรามีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าปราศจากการแลก- เปลี่ยนยิน-หยาง จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เก็บกด จะทำให้เกิดโรค ชีวิตจะสั้น”
- ข้อความบันทึกไว้ในตำราพิชัยสงคราม “ยิน-ฝู่จิง” เมื่อ 2,000 กว่าปี
“ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการควบคุม เหมือนใบมีดที่จะเฉือนถึงกระดูก จะทำลายชีวิต”
คนที่หมกมุ่นทางเพศมากเกินไป
- การสูญเสียสารจิงในการมีเพศสัมพันธ์ จะมีผลโดยตรงต่อไต
การมีกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของภาวะไตพร่อง
การมีเพศสัมพันธ์ที่มากอย่างไม่มีการควบคุม จะทำลายพลังของไต ในผู้ชายจะทำให้เกิดภาวะน้ำกามเคลื่อน หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ในผู้หญิงจะทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ตกขาวมากผิดปกติ หรือมีภาวะแท้งลูกง่าย บางรายมีภาวะมีบุตรยาก
การเก็บรักษาจิงของไตป้องกันไตพร่อง ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง
ต้องฝึกการ ควบคุมการหลั่งสารจิง(อสุจิ)
- วัยหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงาน ร่างกายยังแข็งแรง มีการพักผ่อนเพียงพอ ช่วงฮันนีมูน อาจมีการสูญเสียสารจิงได้ทุกวัน วันละครั้ง
- อายุ 22-25 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 4 วัน ต่อครั้ง
- อายุ 32-35 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 7 วัน ต่อครั้ง
- อายุ 40-50 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง
- อายุ 50-60 ปี ควบคุมการหลั่งประมาณ 30 วัน ต่อครั้ง
- อายุ 60 ปี ควบคุมไม่ให้หลั่งหรืองดหลั่ง
ข้อสังเกตง่ายๆ ว่ามีการสูญเสียพลังไตมากไปหรือไม่ คือ ภายหลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว วันรุ่งขึ้นจะรู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย สมองไม่ปลอดโปร่ง ปวดเมื่อยเอว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แสดงว่าต้องลดการมีเพศสัมพันธ์ให้น้อยลง
สรุป
ในช่วงสถานการณ์โควิด 19ที่มีผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และมีผลต่อร่างกายและจิตใจที่ต้องเตรียมใจไว้ยาวนานอย่างน้อย 2ปีและยังมีผลกระทบต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสงครามที่อาจเป็นการเริ่มต้นยังไม่รู้วันที่จะสิ้นสุด การฝ่าฟันวิกฤติไปได้ ความหวังของทุกคนฝากไว้กับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่แน่ว่าเชื้อกลายพันธุ์ เราจะต้องรับมือกับมันอีกยาวนานเท่าไร สิ่งที่เราต้องช่วยตัวเองเบื้องต้นคือการเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันของตนเอง สร้างเสริมการใช้ศักยภาพของร่างกายที่ธรรมชาติให้มา ใช้วิกฤกติในช่วงนี้มาดูแลสุขภาพกันเถิด หลั่งพายุ ฟ้าฝนเราจะพบกับท้องฟ้าที่สดใส ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ