มีภาษิตพื้นบ้านที่กล่าวถึงการมีอายุยืนยาว โดยเปรียบเทียบกับตะพาบน้ำและเต่าว่า “ตะพาบน้ำพันปี เต่าหมื่นปี” ความจริงสัตว์ทั้ง 2 เป็นประเภทเดียวกัน แต่เต่าดูมีท่าทีที่เยือกเย็น สุขุมกว่าตะพาบน้ำมาก ในยามที่อันตรายมาเยือนตะพาบน้ำจะมีความดุดันเกรี้ยวกราด แต่เต่ายังคงความนิ่งสงบไว้ตลอดเวลา
แพทย์จีนมองว่าพลังในร่างกายคนที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่เรียกว่า หยางชี่ (阳气) การมีชีวิตที่ยาวนานหรือไม่ขึ้นอยู่กับการใช้และการเผาผลาญหยางชี่ของร่างกายว่ามากน้อยเพียงใด หยางชี่จึงเป็นเสมือนพลังที่สะสมและถูกนำมาขับเคลื่อนการดำรงชีวิต เคล็ดลับการมีอายุยืนนานของเต่าจึงขึ้นกับการควบคุมและประหยัดการใช้พลังงานหยางชี่ของมันนั่นเอง
วิธีการควบคุมการใช้พลังงานของเต่า สามารถนำมาประยุกต์กับการดูแลสุขภาพ สรุปได้เป็น 3 วิธี ดังนี้
1.ใช้ความนิ่งสงบดูแลสุขภาพ ( 静养生)
ความสงบสามารถลดการใช้พลังหยาง และเป็นการถนอมสารจิงและยินของร่างกาย ในสภาวะนิ่ง จิตใจจะสงบ ชีวิตจะมีความสงบ และเมื่อจิตสงบแล้ว การหายใจ – การเต้นของหัวใจจะช้าลง, ความดันโลหิตก็จะลดลง, กระบวนการเผาผลาญของร่างกายจะลดลง การเก็บสะสมพลังและสารจำเป็นของร่างกายจึงจะเกิดได้มากขึ้น
2.ใช้ความช้าในการดูแลสุขภาพ (慢养生)
ความสงบมีผลต่อการหายใจเข้า – ออกที่ช้าและใช้เวลานาน คนปกติจะหายใจเข้า – ออก 1 ครั้ง ใช้เวลา 6.4 วินาที แต่ในภาวะเร่งรีบหรือเครียด จะพบการหายใจเข้า – ออก ใช้เวลาสั้นมาก 3.3 วินาที ต่อการหายใจเข้า – ออก 1 ครั้ง
การหายใจถี่เร็วมากเท่าไร การเผาผลาญพลังหยางจะเร็วมากยิ่งขึ้น อายุขัยจะสั้นลง การทำให้ใจสงบมีผลให้การหายใจช้าลง ในทางกลับกัน การหายใจช้าลงจะช่วยทำให้ใจสงบ และหัวใจเต้นช้าลง เช่นกัน
ชีวิตจริงในการทำงานมักต้องรีบเร่ง รวดเร็ว การเคลื่อนไหวทำงานภายนอกที่รวดเร็วจะต้องกำกับด้วยจิตภายในที่สงบนิ่งให้มากที่สุด เข้าสู่ภาวะที่ว่า “ภายนอกเคลื่อนไหว ภายในสงบเยือกเย็น” นอกจากนั้นยังต้องสร้างสมดุลด้วยการหาเวลานอกเพลิดเพลิน กับงานอดิเรก กิจกรรมที่ผ่อนคลาย สงบใจ ค่อยๆทำไม่รีบเร่ง เพื่อสร้างสมดุลอีกด้านหนึ่งเป็นการถ่วงดุลอีกด้านหนึ่ง
3.ใช้อุณหภูมิที่ต่ำ, อาหาร, สิ่งกระตุ้นที่พอเหมาะในการดูแลสุขภาพ (低温养生)
ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงได้กล่าวว่า “อาศัยบนพื้นที่ที่สูงมีชีวิตที่ยืนยาว อาศัยในพื้นที่ต่ำมีพลังชีวิตที่หดสั้น” ทั้งนี้เนื่องจาก บนที่สูงมีอากาศบริสุทธิ์ มีความเย็น ลดการเผาผลาญของร่างกาย ไม่ควรอยู่ในที่ร้อนอบอ้าว หรือทำงานในตึกที่อยู่ชั้นใต้ดิน เพราะมีการสะสมของมวลสารมาก อากาศถ่ายเทไม่ได้ นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่ม ไม่เน้นเครื่องดื่มที่มีลักษณะกระตุ้นร่างกาย เช่น เหล้า กาแฟ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์กระตุ้นเผ็ดร้อน
การมีอายุยืนยาวยังต้องรู้จักรักษาสุขภาพด้วยการดำเนินชีวิตแบบสมดุล ในการถนอมชีวิต สะสมพลัง 3 ด้านด้วยกันคือ
1.การรับประทานอาหาร (饮食养生)
2.การนอนหลับ (睡眠养生)
3.การมีเพศสัมพันธ์ (房事养生)