อาชีพการงานของผู้คนในทุกวันนี้มีหลากหลาย หลายอิริยาบถ บางคนต้องยืนเกือบตลอดเวลา เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า บางคนต้องนั่งกับเก้าอี้ เช่น พนักงาน คอมพิวเตอร์ นักบริหาร บางคนใช้สมอง บางคนใช้แรงงานกาย บางคนใช้สายตา บางคนเดินมาก ทำให้อิริยาบถต่างๆ หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง เกิดการเสียสมดุล
ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง (มีอายุกว่า 2,400 ปี) ได้กล่าวถึงอิริยาบถและท่าทางพื้นฐานในการดำรงชีวิต ของมนุษย์ไว้ว่า “การเพ่งดูนานๆ ทำลายเลือด การนอนนานทำลาย พลัง การนั่งนานทำลายกล้ามเนื้อ การยืนนานทำลายกระดูก การเดินนานทำลายเอ็น”
การอยู่ในอิริยาบถใดๆ ที่นาน เกินไป คำว่า “นาน” คือ “มากเกินไป”
รวมถึงการใช้แรงงานกาย หรือแรงงานสมองที่มากเกินไป การใช้แรงงานกายมากเกิน ไปหรือออกกำลังกายเกินควรแทนที่จะเป็นการเสริมสร้างร่างกาย กระตุ้นการทำงานระบบต่างๆ ช่วยให้การกินอาหารดีขึ้น ตรงข้ามกับทำให้ระบบม้าม-กระเพาะอาหาร อ่อนแอ อาการเริ่มแรก คือ การปวดเมื่อยทั้งร่างกาย แขนขาอ่อนแรง เมื่อยล้า อุจจาระเหลว อาหารไม่ย่อย มีอาหารและของเหลวตกค้าง ไม่ดูดซึม ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เหงื่อออกเอง (ขาดพลังในการพยุงดึงรั้ง)
การใช้แรงงานสมองที่มากเกินไป ทำให้หัวใจ ตับ และม้ามได้รับการกระทบกระเทือน ความนึกคิดของคนเริ่มต้นที่การรับรู้สัมผัส แล้วแปรผลที่สมอง (หัวใจ) การครุ่นคิดเกี่ยวกับการทำงาน ม้าม (ชนิดของอารมณ์ มีผลโดยตรงต่ออวัยวะต่างๆ ไม่เหมือนกัน)
หัวใจกำกับควบคุมเลือดเป็นที่เก็บของความรู้สึกนึกคิด ตับเก็บเลือดส่ง ให้หัวใจ ม้ามกำกับการส่งลำเลียง ดูดซึมอาหารเพื่อการสร้างเลือด โดยผลกระทบของการใช้สมองมากเกินไปมีผลต่อการสร้างเลือด (ม้าม) การสำรองเลือด (ตับ) การขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง (หัวใจ) ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ท้องเสีย ท้องแน่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อ ฝ่อลีบ แขน-ขาไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ฝันบ่อย เวียนศีรษะ ลืมง่าย เป็นต้น
การใช้แรงงานกาย แรงงาน สมองที่พอเหมาะมีความสำคัญ
การเคลื่อนไหวใช้แรงงานกาย เพื่อทำให้พลังไหลเวียนของเส้นลมปราณส่วนต่างๆ ของร่างกายเคลื่อนไหว ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลต่ออวัยวะภายในจั้งฝู่ ซึ่งเป็นตัวควบคุมพลังลมปราณต่างๆ ให้ได้รับการกระตุ้นด้วยการใช้สมองในการคิดอย่างมีเหตุผล และการฝึกจิตจะทำให้สมองมีชีวิตชีวา เพราะสมองหรือความคิด (หัวใจ) เป็นเสมือนกษัตริย์มีหน้าที่กำกับการเคลื่อนไหวของเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีผลการศึกษาอายุขัยของนักคิดของจีนกว่า 3,000 คน เช่น นักวิทยาศาสตร์ ศิลปะ นักคิด นักเขียน นักวรรณคดีที่มีอายุระหว่าง 221 ก่อนคริสต์ศักราช ถึงปี ค.ศ. 1940 มีอายุเฉลี่ย 65.18 ปี ซึ่ง มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติถึง 30 ปี
ในยุโรปมีผลการวิจัยพบว่า อายุขัยของนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เฉลี่ยอยู่ที่ 79 ปี เช่น ทอมัส อัลวา เอดิสัน มีอายุยืนยาวถึง 84 ปี เซอร์ไอแซก นิวตัน มีอายุยืนยาว 85 ปี และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มีอายุยืนยาว 76 ปี การใช้สมองในการคิดสร้างสรรค์ การสร้างปัญญา และการฝึกจิต เป็นวิถีการสร้างเสริมจิตใจ ในแนวทางธรรมชาติที่สำคัญขาดเสียมิได้ ผู้ที่ผ่านการฝึกฝนทางจิตที่ดี สามารถหยุดการคิด เป็นการพักจิต สามารถผ่อนคลายในทุกโอกาสที่ต้องการ ทำให้ใช้สมาธิและใช้สมองได้ยาวนาน ทำให้พลัง และเลือดในร่างกายหมุนเวียนอย่างคล่องตัวสม่ำเสมอ ไม่สะดุดติดขัด
ศาสตร์โบราณการออกกำลังกาย จึงเน้นที่การฝึกจิต ควบคู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วยกัน แถมยังเสริมด้วยการฝึกการหายใจ เพื่อดูดซับเอาออกซิเจนที่ดีและขับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียในร่างกายออก เช่น วิชาชี่กง ไทเก๊ก โยคะ เป็นต้น การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอในเวลาที่เหมาะสม ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หลายอาชีพที่ต้องทำงานตอนกลางคืนดึกและนอนตอนกลางวัน ถึงแม้ว่าจะนอนมากกว่า ๘ ชั่วโมง แต่ความสดชื่นหลังจากตื่นนอนไม่เหมือนคนที่หลับ ตอนกลางคืน และทำงานตอนเช้า
ในทางศาสตร์แผนจีน ถือว่า กลางวันเป็นหยาง กลางคืนเป็นยิน กลางวัน พลังของร่างกายจะออกสู่ภายนอกมาที่ส่วนต่างๆ ไม่ ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหรือผิวหนังเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหว การทำงานในชีวิตประจำวัน ตอนกลางคืน พลังส่วนนอกของร่างกายจะกลับเข้าสู่ภายในเพื่อการสะสมและพักการใช้งาน การนอนหลับพักผ่อนในช่วงกลางคืนจึงสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติของยินหยางของร่างกายที่ต้องพัก และสะสมพลังเพื่อวันรุ่งขึ้น คนนอนกลางวันเป็นภาวะที่ฝืนกับการเคลื่อนไหวของพลังร่างกายที่จะออกนอก แต่พยายามดึงมันกลับเข้าในร่างกาย ทำให้พลังสะสมไม่เต็มที่ ตอนกลางคืนพลังจะกลับเข้าในก็พยายามจะฝืนดึงออกมาภายนอก กลับตาลปัตร นับเป็นการทำลายพลังชีวิต ถ้าดำเนินชีวิต หรือมีอาชีพทำงานกลางคืน เช่น การอยู่เวรดึก อาชีพยามตอนกลางคืน อาชีพนักร้อง คนขายของโต้รุ่ง อาชีพแพทย์ พยาบาล แน่นอนว่าถ้ามีโรคประจำตัวก็คงหายยาก ถ้าไม่มีโรค ก็คงจะเกิดโรคในเร็ววัน
การนอนหลับควรหลับแต่หัวค่ำ ตื่นนอนแต่เช้าตรู่
หลักการเช่นนี้ ทำได้ดีสำหรับคนในชนบท แต่เป็นเรื่องที่ทำยากสำหรับชีวิตคนเมือง เพราะกว่าจะกลับบ้าน เสร็จภารกิจการงานก็มักจะเข้าสู่เที่ยงคืนแล้ว แต่ก็ควรเข้าใจหลักการข้อนี้ โดยเฉพาะถ้าวันไหนร่างกายอ่อนเพลียมาก ควรรีบเข้านอนแต่หัวค่ำ ควรงดกิจกรรมอื่นไปก่อน การนอนหลับยังเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด
สรุปก็คือ
การสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ควรเริ่มจากการเข้าใจธรรมชาติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นหลักก่อน ไม่ควรไปแสวงหายา สิ่งภายนอกต่างๆ มาเสริมโดยไม่เคยคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สุขภาพที่ดี ไม่สามารถให้กันได้ มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ต้องสร้างด้วยตัวเองเป็นหลัก การนอนหลับพักผ่อนที่น้อย เกินไปก็จะทำให้สูญเสียพลังชีวิต ถ้าทำเป็นนิสัยก็จะสูญเสียพลังสำรองอย่างต่อเนื่อง ทำให้แก่เร็ว ตายเร็ว การพักผ่อนที่มากไป ขาดการเคลื่อนไหว เลือดพลังในร่างกาย ไม่ค่อยไหลเวียน เสมือนน้ำที่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ก็จะมีการตกค้างของเสีย การพักผ่อนนอกจากจะเป็นการพักกายแล้ว ยังเป็นการพักจิตใจด้วย ส่วนการพักจิตใจ นั้นเรายังสามารถฝึกจิตให้สามารถพักในเวลาสั้นๆ ระหว่างขณะที่กำลังทำงาน การฝึกจิตที่ดีจะทำ ให้จิตบริสุทธิ์ คิดดี ทำดี ปล่อยว่างได้มีสมาธิ สามารถทำงานได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพ นับเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดียิ่งวิธีหนึ่ง
การออกกำลังกายที่พอเหมาะ ไม่ใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป และมีระยะเวลาที่เหมาะสม
จะช่วยให้เลือดพลังไหลเวียนตามกล้ามเนื้อ แขน ขา ลำตัวคล่องตัว และเป็นการเสริมอวัยวะภายใน-ภายนอก ให้แข็งแรง เลือดพลังไม่ติดขัด การออกกำลังกาย การพักผ่อน มักจะถูกนำมารวมกันในการฝึกบริหารร่างกาย-จิต ตามแนวทางการแพทย์ตะวันออก ร่วมกับการฝึกการหายใจเพื่อเอาอากาศดีเข้าขับอากาศไม่ดีออก (ซึ่งต่างกับการบริหารร่างกายแบบตะวันตก ที่เน้นความแข็งแรงกล้ามเนื้อ การทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ เป็นหลัก) นี่เป็นเคล็ดลับหนึ่งของยาอายุวัฒนะ สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเราครับ