ดูแลไตต้องดูแลอวัยวะอื่นควบคู่กันไปด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่าง ม้าม กับ ไต
ม้าม เปรียบเสมือนมารดาของอวัยวะภายในทั้ง 5 (脾为五脏之母) เปรียบเสมือนเป็นทุนที่มาหลังกำเนิด(后天之本)ส่วน ไต เปรียบเสมือนรากฐานของร่างกาย เปรียบเสมือนเป็นทุนที่มาแต่กำเนิด(先天之本)
ม้ามเกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมอาหารที่ได้จากการรับประทาน เปลี่ยนเป็นพลัง เมื่อเหลือใช้จะไปสะสมที่ไตเป็นการเติมเต็มพลังที่ต้องใช้ในการขับเคลื่อนชีวิต การทำให้ไตแข็งแรงจะต้องทำให้อวัยวะม้าม (การย่อยและดูดซึมอาหาร) มีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
คนโบราณใช้จุดฝังเข็ม 4 จุด ในการเพิ่มพลังม้ามและเสริมพลังไตคือ จุดจงหว่าน(中脘穴)จุดกวนหยวน(关元穴)จุดมิ่งเหมิน(命门穴)จุดจู๋ซานหลี่(足三里)จะเห็นว่าจุดเหล่านี้อยู่บริเวณส่วนท้อง, ส่วนเท้า และแผ่นหลังซึ่งง่ายมากต่อกระทบความเย็นจากอากาศและสิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนั้นการสวมใส่กางเกงขาสั้นเดินเท้าเปล่าในที่อากาศเย็นและพื้นปูนที่เย็น หรือการรับประทานอาหารเครื่องดื่มที่แช่เย็น (รวมถึงฤทธิ์เย็น) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ม้ามและไตอ่อนแอ
จำไว้ว่าการรักษาความอุ่นของบริเวณหน้าท้อง ท้องน้อย รวมทั้งเท้าจะช่วยบำรุงม้ามเสริมบำรุงไต
อาการหยางของม้ามและไตพร่อง มักแสดงออกด้วยอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องเสียตอนฟ้าสาง (ย่ำรุ่ง) ตำรับยาจีนที่คุ้นเคยกัน คือ ซื่อเสินหวาน(四神丸)
ความสัมพันธ์ระหว่าง ปอด กับ ไต
ปอดเป็นแม่ของไต ตามหลักปัญจธาตุ ปอดควบคุมน้ำส่วนบน กระจายลงสู่ข้างล่างไปยังไต ไตควบคุมน้ำส่วนล่าง ดูดน้ำกลับสู่ร่างกายไปหล่อเลี้ยงปอด ไตเป็นรากฐานของสารยินทั้งหมดของร่างกาย ยินของปอดสามารถแปรเปลี่ยนเป็นยินของไต ปอดควบคุมการหายใจระดับตื้นไตควบคุมการหายใจระดับลึก การเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจนานๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งลำเลียงน้ำลงสู่ด้านล่างและการหายใจระดับลึก ปอดควบคุมพลังทั้งหมดของร่างกายไตเป็นรากฐานของพลังของร่างกาย การหายใจที่ลึกพอจะทำให้พลังสามารถเก็บสะสมที่ไตได้ ทำให้การหายใจมีประสิทธิภาพ เป็นการนวดกระตุ้นอวัยวะภายในไปในตัว จะทำให้ไตแข็งแรงเก็บกักพลังได้ดีการหายใจที่ลึก พลังปอดที่แข็งแรงความมีส่วนเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของไต
คนที่มียินของปอดและไตพร่อง จะมีอาการไอเสมหะเหนียวแห้ง ปริมาณน้อย คอแห้งปากแห้งร่วมกับอาการปวดเมื่อยเอว แก้มแดง ไข้หลังเที่ยงร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและกลางอก
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการบำรุงยินของปอดและไตไปพร้อมกัน คือ ไป๋เหอกู้จินทัง(百合固金汤)