ข่าวท่าน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ทีมสู้โควิดประเทศไทยเสียชีวิตกระทันหัน ขณะร่วมวิ่งมินิฮาร์ฟมาราธอน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ในวันเดียวกันที่จังหวัดระยอง มีนักวิ่งเสียชีวิต 2 ราย ในงานวิ่ง อาสาพาวิ่ง 2020 เส้นทางวิ่งรอบอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง มีนักวิ่งเข้าร่วมแข่งนับพัน ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายเป็นเพศชายอายุ 54 ปี และ 30 ปี ทั้ง 3 คนเสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นข่าวสะเทือนขวัญทั้งๆที่ทุกคนเป็นคนรักสุขภาพ ออกกำลังกาย
สถานการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary Artery Disease ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก และก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย รองมาจากมะเร็งและอุบัติเหตุ ซึ่งโรคหัวใจที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ปีพ.ศ. 2557 มีรายงาน โรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน แนวโน้มของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีสถิติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 มีการประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิต จากโรคดังกล่าวถึงร้อยละ 12 จากสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
แผนปัจจุบัน:หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด-หัวใจล้มเหลว
หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery) เป็นหลอดเลือดแดงที่นำออกซิเจนและอาหาร คือ เลือดจากหัวใจไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจนั้นส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจของตัวเองด้วย หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจที่นำเลือดไปที่กล้ามเนื้อหัวใจนั้นแบ่งออกเป็นแขนงขวาและซ้าย โดยแยกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจ
หลอดเลือดหัวใจแขนงขวาจะเป็นหลอดเลือด 1 เส้น ส่วนหลอดเลือดด้านซ้ายจะแยกเป็นหลอดเลือด 2 เส้น หลอดเลือดทั้ง 3 เส้น คือ ขวา และซ้าย 2 เส้น จะส่งเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery disease) หรือโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease ) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยปกติมีขนาดเพียง 2-4 มิลลิเมตร เกิดการตีบหรือตัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไขมัน และเนื้อเยื่อ มาพอกสะสม รวมถึงอาจมีแคลเซียม (plaque) ไปเกาะทับอยู่ในผนังของหลอดเลือด มีผลให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น เกิดภาวะแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (Arteriosclerosis) ขาดความยืดหยุ่นและตีบตัน เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดตลอดทั้งชีวิต การปั๊มเลือดที่ประกอบด้วยสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญทั่วร่างกาย ต้องอาศัยกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจที่แข็งแรง เมื่อหลอดเลือดอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจทำงานลดลง อาจนำไปสู่ขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้ทันที
ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เครียด ขาดการออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ส่วนมากเป็นผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน 35 ปีขึ้นไปก็เริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเสริม เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ อดนอน กินอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีไขมันมาก ความเครียด ส่วนผู้หญิงมักจะพบในช่วงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้น ไปเนื่องจากดูแลตัวเองดี เลือกรับประทานอาหารเพราะกลัวอ้วน และมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนช่วยควบคุมการสร้างคอเลสเตอรอล และเป็นตัวช่วยไม่ให้เกิดเมือกไขมันอุดตันในหลอดเลือด ทำให้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน(ยกเว้นในรายที่กินยาคุมกำเนิดเป็นประจำก็อาจจะเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันได้เร็วขึ้น)
สาเหตุของหลอดเลือดแดงหัวใจตีบตัน
หลอดเลือดแดงหัวใจตีบตัน ส่วนใหญ่เป็นการสะสมความตีบตันแบบเรื้อรัง มากกว่า 95% มาจากการอักเสบ การเสื่อมของหลอดเลือดซึ่งใช้เวลานานนับสิบๆ ปี ความเสื่อมจะมากหรือน้อยนั้นต่างกันตามสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความอ้วน การไม่ออกกำลังกาย
ส่วนหลอดเลือดหัวใจตีบตันแบบฉับพลัน สาเหตุมาจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในบริเวณที่มีรอยตีบอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นแบบที่ผู้ป่วยไม่เคยมีอาการหัวใจขาดเลือดมาก่อน มีการปริแตกของตระกรัน (Plaque) ในหลอดเลือดแดง ทำให้เกล็ดเลือด และปัจจัยแข็งตัวของเลือดจะเข้ามาอุดตันในเวลาอันรวดเร็ว
ความสำคัญในการควบคุมความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ
หัวใจ เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำในระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย โดยการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย การส่งปริมาณเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ ขึ้นกับพลังการทำงานในการบีบตัวของหัวใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ ปกติหัวใจเต้น 72 ครั้งต่อนาที สูบเลือดประมาณ 4.7-5.7 ลิตรต่อนาที ปริมาณของเลือดที่หัวใจบีบออกใน 24 ชั่วโมงเท่ากับประมาณ 1600แกลลอนหรือ 7000-8000 ลิตร เพื่อให้ได้ปริมาณเลือดที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอ
หากหัวใจเราเต้นเร็วแสดงว่าหัวใจเราต้องการเลือดและอาหารไปเลี้ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นควรควบคุมหัวใจให้เต้นช้าลง เพื่อให้หัวใจใช้พลังงานจากอาหารและเลือดน้อยลง
ส่วนผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (ยกเว้นนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมักมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ) ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่หัวใจเต้นช้าจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดและนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้ความดันต่ำ เป็นลม เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกใจสั่น
สำหรับในคนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ ควรให้ชีพจรอยู่ที่ 60-70 และความดันโลหิตอยู่ในระหว่าง 120-140 แต่ไม่ควรเกิน 150 เพื่อลดแรงกระแทกจนเกิดแผลที่ผนังของเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดการปริแตกของผนังหลอดเลือ เกิดการอักเสบและการเกาะตัวของลิ่มเลือด ซางจะทำให้หลอดเลือดอุดตันเฉียบหพลันได้ง่าย
อาการและสิ่งบ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ของแผนปัจจุบัน
หลอดเลือดหัวใจตีบน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มักไม่มีอาการเพราะหัวใจยังสามารถทำงานส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ
ถ้าหลอดเลือดในหัวใจเริ่มตีบแคบเกิน 50% จะเริ่มมีอาการเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง ร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย ในลักษณะเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรงมาก ๆ หรือเวลาเครียด หรือหลังจากทานอาหารมื้อหนัก บางรายมีปวดร้าวขึ้นไปตามคอ อาการเป็นมากขึ้นเวลาออกแรงมากขึ้น นั่งพักอาการจะดีขึ้น ออกแรงแล้วเจ็บ พอพักก็หาย หรือเมื่อมีอาการเจ็บแล้วอมยาใต้ลิ้น อาการก็จะดีขึ้น
ในรายที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากเกิน 70% นั่นแปลว่าหัวใจไม่สามารถทำงานส่งเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะมีอาการรุนแรงมากขณะออกแรง หรือออกกำลังกาย ให้หยุดการออกแรง หรือออกกำลังกายที่มากจนทำให้เกิดอาการ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว แต่ไม่ถึงกับฉุกเฉิน
แต่หากเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกะทันหัน คือ มีอาการในขณะพัก หรืออยู่เฉยๆ โดยมีอาการผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออกตัวเย็น แสดงถึงการขาดเลือดอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด ให้พบแพทย์โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน ทั้งนี้กล้ามเนื้อหัวใจจะตายเกือบทั้งหมดภายใน 4-6 ชั่วโมง ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้
อาการที่น่ากลัวคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เคยมีอาการทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่น เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยทำงานที่ร่างกายแข็งแรงดีไม่เคยมีโรค เชื่อว่ามีการปริแตกของตระกรัน (Plaque) ในหลอดเลือดแดง ทำให้เกล็ดเลือด และปัจจัยแข็งตัวของเลือดจะเข้ามาอุดทำให้หลอดเลือดหัวใจ เกิดตีบตันฉับพลัน มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม หรือเป็นมากขึ้นก็หอบเหนื่อย (เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว) หรือหัวใจหยุดเต้น เรียกกลุ่มอาการอันตรายนี้ว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน ( Acute Coronary Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนทางหัวใจที่ต้องรักษาฉับพลัน คนทั่วไปอาจเรียกว่า Heart Attack (อาการโรคหัวใจอันตรายฉับพลัน) ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล